อัปเดตเมื่อ 2 พ.ย. 2563
เดือนกันยายน ระยะหลังการเก็บเกี่ยวลำไย หลังจากที่เก็บผลผลิตขายได้เงินแล้วก็ควรต้องแบ่งมาบำรุงให้ต้นลำไยบ้าง และควรจะเริ่มต้นบริหารจัดการส่วนลำไยได้แล้ว ถ้าเริ่มต้นเร็วและถูกต้องเหมาะสม ลำไยของท่านก็จะให้ผลผลิตอย่างเป็นกอบเป็นกำสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การตัดแต่งกิ่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แนะประโยชน์และวิธีการตัดแต่งกิ่งไว้ดังนี้

ประโยชน์ของการตัดแต่งกิ่งลำไย
1.เร่งให้ลำไยแตกใบอ่อน
การตัดแต่งกิ่งเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถเร่งการแตกใบอ่อนมีผลทำให้ต้นลำไยฟื้นตัวได้เร็วและใบใหม่ที่เกิดขึ้นจะทำหน้าที่ในการสร้างอาหารสะสมไว้สำหรับการออกดอกติดผลในฤดูกาลถัดไป
2. ควบคุมความสูงของทรงพุ่ม
การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มเตี้ย ทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตและสะดวกต่อการดูแลรักษา เช่น การพ่นปุ๋ยทางใบ หรือสารป้องกันการกำจัดศัตรูพืช ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องไม้ค้ำยันกิ่ง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
3. ลดการระบาดของโรคและแมลง
ต้นลำไยที่มีทรงพุ่มทึบมักเป็นแหล่งอาศัยของแมลงนอกจากนี้ทรงพุ่มทึบจะมีความชื้นสูงและก่อให้เกิดโรค เช่น โรคราดำ โรคจุดสาหร่ายสนิม และไลเคนส์ เป็นต้น การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดสามารถส่องทะลุเข้าไปในทรงพุ่มจะช่วยลดการระบาดของโรคและแมลง
4. ต้นลำไยตอบสนองต่อสารคลอเรต
ต้นลำไยที่มีอายุมากเมื่อให้สารโพแทสเซียมคลอเรตมักจะออกดอกน้อย หรือออกดอกไม่สม่ำเสมอ การตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง แสงส่องเข้าไปในทรงพุ่มจะช่วยให้ต้นลำไยตอบสนองต่อสารโพแทสเซียมคลอเรตได้ดีทำให้ออกดอกมากขึ้นและใช้ปริมาณสารคลอเรตลดลง
5. ผลผลิตมีคุณภาพดี
ต้นลำไยที่มีทรงพุ่มทึบถ้าหากออกดอกติดผลดกส่งผลให้ลำไยมีผลขนาดเล็ก ผลผลิตคุณภาพต่ำ การตัดแต่งกิ่งออกบางส่วนจะช่วยลดพื้นที่ออกดอกติดผลลงบ้างทำให้ขนาดผลใหญ่ขึ้นและคุณภาพผลผลิตโดยรวมดีขึ้น

รูปทรงของการตัดแต่งกิ่งลำไย
ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้แนะนำให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่ง 3 รูปทรง คือ
1. ทรงเปิดกลางพุ่ม
หรือที่เรามักเรียกว่า "ทรงเปิดกะโหลก" เป็นรูปทรงที่กันในหลายพื้นที่โดยจะตัดกิ่งที่อยู่กลางทรงพุ่มออก 2–5 กิ่ง เพื่อลดความสูงของต้น และให้แสงแดดส่องเข้าในทรงพุ่ม จากนั้นตัดกิ่งที่อยู่ด้านในทรงพุ่มที่ไม่ได้รับแสง และตัดกิ่งที่มีขนาดใหญ่ทางด้านข้างของทรงพุ่มออกบ้างเพื่อให้แสงส่องเข้าไปในทรงพุ่ม ตัดกิ่งที่ถูกโรคและแมลงทำลาย ตัดกิ่งที่ไขว้กัน กิ่งซ้อนทับและกิ่งที่ชี้ลง
2.ทรงสี่เหลี่ยม
การตัดแต่งรูปทรงสี่เหลี่ยมเหมาะสำหรับต้นลำไยที่มีอายุน้อย และปลูกในระยะชิดซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
2.1 กำหนดความสูงของทรงพุ่มไม่ให้เกิน 4 เมตร โดยทั่วไปอยู่ในช่วง 2 – 3 เมตรโดยนำไม้ไผ่ทำเครื่องหมายตามความสูงที่ต้องการ แล้วนำไปทาบที่ต้นลำไยหากกิ่งลำไยมีความสูงเกินเครื่องหมายก็ตัดออกให้หมด
2.2 ตัดปลายกิ่งด้านข้างทรงพุ่มทั้งสี่ด้าน ส่วนจะตัดลึกเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะปลูกและทรงพุ่มเดิมของลำไย ถ้าหากทรงพุ่มชนกัน หรือใกล้จะชนกันก็ตัดลึก แต่โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้ตัดลึกจากปลายกิ่งประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร ภายหลังตัดแต่งกิ่งได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นลำไยจะเริ่มแตกใบ ถ้าหากต้องการให้ต้นลำไยสมบูรณ์เต็มที่ควรให้มีการ แตกใบ 3 ครั้ง โดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน นับตั้งแต่ตัดแต่งกิ่ง ก็สามารถชักนำการออกดอกได้
3.ทรงฝาชีหงาย
วิธีการ คือ ตัดกิ่งที่อยู่กลางทรงพุ่มออกให้หมด เหลือเฉพาะกิ่งที่เจริญในแนวนอน จากนั้นจะเกิดใหม่กิ่งขึ้นตามกิ่งหลักที่เจริญในแนวนอน เรียกกิ่งที่เกิดขึ้นว่ากิ่งกระโดง จากการศึกษาตัดแต่งกิ่งลำไยโดยคุมทรงต้นให้สูง 2 – 3 เมตร พบว่า เกิดกิ่งกระโดงได้มากกว่า 300 กิ่งต่อต้น ซึ่งกิ่งกระโดงดังกล่าวสามารถออกดอกได้ภายใน 4 – 6 เดือน หลังตัดแต่งช่อผลลำไย ที่เกิดจากกิ่งกระโดง เมื่อผลใกล้แก่จะโน้มลงหลบเข้าในทรงพุ่ม ทำให้ผลลำไยมีขนาดใหญ่ และมีสีเหลืองทอง ทำให้จำหน่ายได้ในราคาสูง นอกจากนั้นยังแตกใบได้เร็วอีกด้วย

หลังจากตัดแต่งกิ่งเรียบร้อยแล้ว
ควรทำความสะอาดพื้นและควรเติมอินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก มูลวัว มูลไก่ อาจจะเพิ่มปุ๋ยเคมีสูตรหน้าสูง กลางท้ายต่ำ เช่น 25-7-7 หรือ 46-0-0 ก็ได้
การใส่ปุ๋ย
ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 10-20 กิโลกรัมต่อตัน ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่นสูตร 15-15-15 ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อตัน (อายุ 7 ปี ถ้าอายุมากหรือต่ำกว่านี้ก็เพิ่มหรือลดลงตามความเหมาะสม)
ถ้าการแตกใบอ่อนไม่สม่ำเสมอ หรือแตกใบอ่อนช้าควรเร่งให้แตกใบอ่อนเร็วขึ้น โดยใช้ปุ๋ย ไทโอยูเรีย อัตรา 100-150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทั่วทรงพุ่ม 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน จะช่วยให้การแตกใบอ่อนออกมาพร้อมกันและเร็วขึ้นด้วย
การป้องกันกำจัดโรคแมลง
ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงที่มีระบาดในระยะนี้ เช่น ลำไย เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะกิ่ง แมลงค่อมทอง หนอนคืบกินใบอ่อน หนอนม้วนใบ เช่น เคลเทน, โมโนโครโตฟอส,คาร์บาริล
การให้น้ำ
ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการแตกใบอ่อนได้เร็วขึ้น
ถ้าใบมีความสมบูรณ์ต่ำ ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 30-20-10, 20-20-20 อัตรา ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของใบให้มากขึ้น
การป้องกันกำจัดโรคแมลง
ควรฉีดพ่นสารเคมี เช่น เคลเทน, โมโนโครโตฟอส, คาร์บาริล ป้องกันกำจัดโรคแมลงที่มีการระบาดในระยะนี้ เช่นไรลำไย เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะกิ่งแมลงค่อมทอง หนอนคืบกินใบอ่อน หนอนม้วนใบ
การกำจัดวัชพืช ถ้ามีวัชพืชขึ้นในสวนมาก ควรกำจัดให้หมด